มะเร็งกระดูก
มะเร็งกระดูก
โรคมะเร็งกระดูก (Bone cancer หรือ Malignant bone tumor) เป็นโรคของเด็กโต วัยรุ่น และวัยหนุ่มสาว ช่วงอายุประมาณ 10-20 ปีแต่อาจพบในช่วงอายุอื่นๆได้บ้างทั้งในเด็กเล็กจนถึงในผู้สูงอายุ ซึ่งโรคมะเร็งกระดูกพบได้เพียงประมาณ 6% ของโรคมะเร็งในเด็กทั้งหมด
โรคมะเร็งกระดูก แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ด้วยกัน คือ
- โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ (Primary bone cancer หรือ Primary bone tumor) โรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ของเนื้อเยื่อกระดูกเอง มักจะเกิดในอวัยวะพวกรยางค์ แขนขา ซึ่งตำแหน่งที่เกิดส่วนใหญ่คือใกล้ข้อ เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อไหล่ เป็นต้
- โรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ (Secondary bone cancer หรือ Secondary bone tumor) โรคมะเร็งกระดูกที่เกิดจากโรคมะเร็งอื่นๆ แพร่กระจายมาที่กระดูก ซึ่งประมาณ 30-40% ของมะเร็งที่กระจายมาจะพบที่แขนขา และประมาณ 50-60% จะกระจายมาที่ตรงส่วนกลางของร่างกาย เช่น กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกซี่โครง กะโหลกศีรษะ เป็นต้น
โรคมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่กระดูกมีเกือบทุกชนิดและมักจะกระจายมาในช่วงท้ายๆ ของโรค แต่มีโรคมะเร็ง 5 ชนิดที่กระจายมากระดูกตั้งแต่ในระยะต้นของการเป็นโรค ได้แก่ มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งไต และมะเร็งต่อมลูกหมาก
โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ เป็นกลุ่มมะเร็งที่พบได้น้อย จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบอุบัติการณ์ของโรคประมาณ 0.8 คนต่อประชากร 1 แสนราย ซึ่งพบได้ค่อนข้างน้อย เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย จะพบในวัยเด็กค่อนข้างมาก
โรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ เป็นโรคมะเร็งกระดูกที่เกิดจากการแพร่กระจายของมะเร็งชนิดอื่น ๆ จะสัมพันธ์กับโรคมะเร็งที่เป็นอยู่ จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ประมาณ 30,000 รายต่อปี ซึ่งผู้ป่วยมีการกระจายไปที่กระดูกประมาณ 20% ซึ่งผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่เป็นในระยะท้ายๆ ของโรค
---
ปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งกระดูก
โรคมะเร็งกระดูกยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน ปัจจุบันมีหลักฐานเพิ่มขึ้นพบว่า
- โรคมะเร็งกระดูกเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของยีนในร่างกาย
- เกิดจากกระตุ้นโดยสิ่งแวดล้อม เช่น สารเคมี ยาฆ่าแมลง สารรังสี เป็นต้น คนที่ทำงานที่อยู่ใกล้กับสารเคมี หรือทำงานในโรงงานที่เกี่ยวข้องกับรังสีหรือทางการแพทย์ ทำให้มีโอกาสเกิดมะเร็งได้
- เกิดขึ้นจากการรักษาในปัจจุบัน เช่น การให้เคมีบำบัด การให้รังสีรักษา เหล่านี้กระตุ้นทำให้เกิดมะเร็งขึ้นโดยง่ายนอกจากนี้เป็นเรื่องการเปลี่ยน แปลงทางโลกาภิวัตน์ โรคบางอย่างที่เกิดขึ้นในทางประเทศแถบยุโรปบางโรค ทำให้มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งกระดูกได้สูง ซึ่งในปัจจุบันโรคเหล่านี้ได้เกิดขึ้นในประเทศเราและพบได้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิด ในอนาคตข้างหน้า อาจจะมีการเพิ่มของโรคมากขึ้นกว่าเดิม สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคมะเร็งกระดูกนั้นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยเหล่านี้ประกอบกัน
---
ลักษณะทางคลินิกของโรค
- โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ ผู้ป่วยมักมีอาการปวด ซึ่งอาการปวดจะมีข้อแตกต่างจากอาการปวดทั่วๆ ไป เป็นการปวดแบบทุกข์ทรมาน ปวดตลอดเวลา และมีปวดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ปวดในเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน มีก้อนเกิดขึ้น มีการผิดรูปของอวัยวะ เช่น แขนขาผิดรูป กระดูกหักแบบมีพยาธิสภาพ คือหักแบบไม่มีเหตุในการที่จะหัก เช่น เดินแล้วหัก นอกจากนี้ที่พบเพิ่มขึ้นเรียกว่าพบโดยบังเอิญโดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการแต่มีรอยโรคเกิดขึ้น มักจะพบจากการที่ผู้ป่วยไปตรวจสุขภาพประจำปี หรืออาจเกิดจากเกิดอุบัติเหตุ เล่นกีฬา ไปตรวจเอ็กซเรย์แล้วพบ ซึ่งปัจจุบันมักจะพบลักษณะแบบนี้มากขึ้น
- โรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ ผู้ป่วยมักมีอาการปวด เรื่องก้อนจะไม่ค่อยชัดเจน มีภาวะเรื่องกระดูกหักโดยที่เกิดจากพยาธิสภาพ เช่น ยกของแล้วกระดูกหัก เดินหกล้มแล้วหัก เป็นต้น
นอกจากนี้คืออาการของทางระบบประสาท เช่น อาการชา อาการอ่อนแรง จนกระทั่งเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น หรือบางครั้งอาจมาด้วยการตรวจพบโดยบังเอิญ
ข้อแตกต่าง ระหว่างโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิและโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ
- โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ จะเด่นเรื่องของก้อน และการผิดรูปของอวัยวะ
- โรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ จะไม่เด่นเรื่องก้อน แต่จะมีภาวการณ์เป็นอัมพาตหรือการอ่อนแรงเกิดขึ้น
---
ความรุนแรงของโรคมะเร็งกระดูก
โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิค่อนข้างรุนแรง ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตค่อนข้างต่ำ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ยกตัวอย่าง มะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ ที่เรียกว่า ชนิด Osteosarcoma ซึ่งเป็นมะเร็งกระดูกชนิดที่พบบ่อยในเด็กมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะเสียชีวิตประมาณไม่เกินระยะเวลา 2 ปี
สำหรับโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิเช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม พบว่ามีการกระจายไปที่กระดูกอย่างเดียว ผู้ป่วยอาจจะสามารถมีชีวิตอยู่ไปอีกนาน ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดกระจายมาที่กระดูก ในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งที่แพร่กระจายมาด้วย
โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิจะมีข้อดี คือหากพบในระยะเริ่มต้น และยังไม่มีการแพร่กระจาย ผู้ป่วยอาจได้รับการรักษาให้หายขาดได้ เพียงแต่ว่าโรคมะเร็งกระดูกไม่เหมือนมะเร็งชนิดอื่นตรงที่ ไม่สามารถตรวจก่อนได้ ต้องอาศัยความสงสัยของทางพ่อแม่ญาติพี่น้องที่ดูแลอยู่ ว่าบุตรหลานของเขามีความผิดปกติหรือไม่อย่างไร
---
การตรวจวินิจฉัยแยกโรค
- การเอ็กซเรย์กระดูก เพื่อดูตำแหน่งปวด
- การตรวจ MRI ซึ่งการตรวจ MRI นั้นมีข้อดีก็คือ สามารถบอกขนาดของมะเร็งที่แท้จริงได้ ซึ่งจะใช้ในการวางแผนในการผ่าตัดรักษา รวมถึงสามารถบอกผู้ป่วยได้ว่าควรจะเก็บขาไว้หรือตัดขา ซึ่ง MRI ขณะนี้มีราคาสูง มีใช้เฉพาะตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่และรังสีแพทย์ที่ใช้เครื่อง MRI จะต้องมีการฝึกฝนในการใช้เครื่องนี้อย่างดี เพื่อให้ความแม่นยำเพิ่มขึ้น
- การตรวจชิ้นเนื้อ เป็นการนำตัวอย่างชิ้นเนื้อมาตรวจดู เพื่อการวินิจฉัยและบอกระยะของโรค เพราะว่าระยะของโรคมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องแผนการรักษาผู้ป่วยโดยปกติมะเร็งกระดูกจะกระจายไปที่ 2 อวัยวะหลักคือ 1. กระจายไปที่ปอด 2. กระจายไปที่กระดูกชิ้นอื่น ซึ่งต้องมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมคือการเอ็กซเรย์ปอด
- การทำ CT Scan ปอด ซึ่งการทำ CT Scan ปอดจะละเอียดและรวดเร็วกว่า
- การทำ Bone Scan เพื่อดูการกระจายของมะเร็ง การทำ Bone Scan จะสามารถหาได้เฉพาะบางจุดและการแปรผลจะต้องอาศัยความชำนาญ
---
การรักษาโรคมะเร็งกระดูก
เมื่อตรวจวินิจฉัยได้ทั้งชิ้นเนื้อและระยะของโรคแล้ว ต่อไปเป็นการสรุปขั้นตอนของการรักษาโรค ซึ่งวัตถุประสงค์ของการรักษาโรคมะเร็งกระดูกทั้งสองชนิดนั้นมีความแตกต่างกัน คือ การรักษาโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิหวังให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรค ซึ่งมีกระบวนการทำทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วย การรักษาโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมินั้นไม่ได้รักษาเพื่อหวังให้ผู้ป่วยรอดชีวิต แต่รักษาเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
การรักษาโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ
การรักษาโดยการผ่าตัด หลักการคือ นำเนื้องอกออกจากผู้ป่วยให้หมด ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี คือ
- การตัดอวัยวะ คือตัดแขนหรือขาส่วนที่เป็นมะเร็งออกไป ตัดเฉพาะส่วนของตัวกระดูกที่เป็นเนื้องอกออกไป ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีใหม่ เพิ่งจะนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย แต่การรักษาโดยวิธีนี้ไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็งและความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย
การตัดอวัยวะในสมัยก่อน เป็นเรื่องที่ผู้ป่วยทุกรายกังวล และไม่อยากให้ไปถึงตรงจุดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเด็ก ในปัจจุบันเทคโนโลยีเรื่องของขาเทียมเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งในเรื่องวัสดุและความสะดวกสบายในการปรับใช้ ดังนั้นการใช้ขาเทียมแทบไม่เป็นปัญหาอะไร ผู้ป่วยสามารถทำทุกอย่างได้เหมือนคนปกติทั่วไป ส่วนที่เหลือคือผู้ป่วยต้องมีการฝึกเดิน พร้อมกับการเปลี่ยนความคิดใหม่ว่าการตัดขาไม่ใช่การสิ้นสุดของชีวิตอีกต่อไป - การเก็บอวัยวะ หลักการคือตัดเฉพาะส่วนเนื้องอกออกไป และนำกระดูกมาทดแทนส่วนที่ตัดไป
สมัยก่อนเรานำกระดูกจากผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้วมาทดแทนส่วนที่ถูกตัดออกไป ข้อดีของการเปลี่ยนกระดูก คือ ผู้ป่วยไม่ต้องทานยากภูมิคุ้มกันเหมือนการเปลี่ยนอวัยวะอื่น เนื่องจากกระดูกเป็นโครงสร้างและไม่มีเนื้อเยื่อ การใส่กระดูกเข้าในผู้ป่วย จึงไม่เกิดภาวะต้านหรือถ้าหากเกิดก็จะน้อยมาก
เนื่องจากกระดูกที่นำมาจากผู้ป่วยที่เสียชีวิต โดยส่วนใหญ่เป็นกระดูกของผู้สูงอายุ และนำมาเปลี่ยนให้กับเด็ก เป็นกระดูกที่ตาย กระดูกเหล่านี้จึงมีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนกับกระดูกทั่วๆ ไป และมีการสลายหรือมีการหักได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าหากผู้ป่วยรู้จักวิธีการดูแลรักษากระดูก กระดูกจะอยู่ได้หลายปี
ปัจจุบันเป็นเรื่องน่าเสียดาย เนื่องจากการบริจาคกระดูกเป็นที่รู้จักค่อนข้างน้อย และทางสภากาชาดไทยยังคงไม่มีนโยบายที่จะทำเรื่องนี้ ในปัจจุบัน Bone Bank มีอยู่ 2 แห่งที่ทำเรื่องนี้ คือ ศิริราชและพระมงกุฎเกล้า ซึ่งแต่ก่อนจะใช้วิธีการเก็บกระดูกจากผู้ป่วยที่เสียชีวิตที่ไร้ญาติ ปัจจุบันเป็นข้อห้ามทางกฎหมาย และไม่สามารถทำได้แล้ว จึงเป็นเรื่องของการบริจาคกระดูก แต่เนื่องจากขาดการประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ จึงทำให้ไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทย ในปัจจุบันแทบไม่มีกระดูกใช้เลย
การใช้ข้อเทียมที่เป็นโลหะ การใช้ข้อเทียมในการรักษาโรคมะเร็งกระดูกไม่เหมือนกับการใช้ข้อเทียมอย่างอื่น การใช้ข้อเทียมในการรักษาโรคมะเร็งกระดูกต้องใช้โลหะที่มีความแข็งแรงมากกว่า และกรรมวิธีในการผลิตก็จะมากกว่า
การรักษาโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ
การรักษาโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ เป็นการรักษาเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ดังนั้นหลักการรักษาคือ
- ผู้ป่วยต้องไม่ปวด
- ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยกลับมาใช้อวัยวะข้างที่เป็นอยู่ได้ทันที เช่น ผู้ป่วยกระดูกหักที่ขา เมื่อผ่าตัดเสร็จ เขาสามารถกลับมาเดินได้ เป็นต้น
- ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยพึ่งผู้อื่นน้อยที่สุด ถ้าสามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมาช่วยตนเองได้ เขาก็จะมีความภาคภูมิใจในตัวเอง และไม่เสียคุณค่าของตัวเองไป ดังนั้นผู้ป่วยก็ยังอยากที่จะมีชีวิตอยู่ไป
การผ่าตัด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเสริมกระดูกที่เสียหาย ให้แข็งแรง ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยที่มะเร็งกระจายไปที่กระดูกสันหลังทำให้กระดูกสันหลังยุบตัว การผ่าตัดเพื่อใส่เหล็กเข้าไปค้าเพื่อไม่ให้กระดูกทรุดตัว หรือเมื่อมีการกดไขสันหลัง การผ่าตัดเพื่อไปตัดตำแหน่งที่กดออกไป เป็นต้น
การรักษาแบบตัดกระดูกออกไป แทบไม่ค่อยทำในผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่ในปัจจุบันแนวคิดของการรักษาเปลี่ยนไป ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือโรคมะเร็งเต้านม ที่มีชีวิตอยู่ 20 ปี แม้ว่ามะเร็งจะกระจายไปที่กระดูก ผู้ป่วยยอมผ่าตัดเอากระดูกออกและใส่เหล็กเข้าไป ลักษณะนี้เรียกว่า Active โรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิไม่สามารถใช้การรักษาด้วยวิธี Recycling Bones ได้ เนื่องจากกระดูกเป็นมะเร็งทั้งหมด
---
การติดตามการรักษาโรคมะเร็งกระดูก
ในกรณีโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิจะมีการติดตามการรักษา คือ
- เมื่อผ่าตัดไปแล้ว มะเร็งจะเกิดซ้ำหรือไม่
- มะเร็งมีการกระจายไปที่ปอดหรือกระจายไปที่กระดูกหรือไม่ โดยจะมีการเอ็กซเรย์ หรือ Bone Scan เป็นระยะๆ ประมาณ 80% ของผู้ป่วยมีการกลับซ้ำภายใน 2 ปี และผู้ป่วยที่เหลือประมาณ 20% ประมาณครบ 5 ปี พอหลังจาก 5 ปีแล้ว เปอร์เซ็นการเกิดซ้ำของโรคมะเร็งหรือการกระจายของมะเร็งก็จะลดลงไปมาก ถ้าเกิน 5 ปีไปแล้ว ไม่มีการเกิดซ้ำของโรค เรียกว่าหายขาดได้