มะเร็งมดลูก
มะเร็งมดลูก
เมื่อพูดถึงมะเร็งทางนรีเวชที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะสืบพันธุ์ ผู้หญิงหลายคนมักคุ้นเคยกันดีกับมะเร็งปากมดลูก แต่ทราบหรือไม่ว่ายังมีมะเร็งอีกชนิดหนึ่งซึ่งพบได้มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือ "มะเร็งมดลูก"
ในปัจจุบันมะเร็งทางนรีเวชที่พบได้มากที่สุด 4 อันดับแรกเรียงตามลำดับ ได้แก่ มะเร็งเต้านม, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งมดลูกและมะเร็งรังไข่ แต่มีข้อสังเกตว่าแม้มะเร็งเต้านมจะพบได้มากที่สุด แต่อัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้กลับต่ำกว่ามะเร็งปากมดลูก ทั้งๆ ที่มะเร็งปากมดลูกนั้นสามารถป้องกันได้ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะการพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจภายในยังเป็นเรื่องที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังอายและไม่คุ้นเคย และเมื่อเปรียบเทียบมะเร็งปากมดลูกกับมะเร็งมดลูก พบว่ามะเร็งมดลูกมีอุบัติการณ์ที่พบได้มากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี
ในขณะที่มะเร็งปากมดลูกมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะประเทศอเมริกา, อังกฤษ และทวีปยุโรป ซึ่งอาจเป็นเพราะประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันโรคและเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น
สำหรับมะเร็งมดลูกนั้น คนส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่าคือที่เดียวกับปากมดลูก แต่แท้จริงแล้วเป็น คนละที่กัน บางครั้งจึงเกิดความเข้าใจว่าการตรวจภายในหรือการตรวจมะเร็งปากมดลูก เป็นการตรวจมะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ที่ครบถ้วน ทั้งๆ ที่การตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นเพียงแค่การตรวจส่วนเดียวเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงการตรวจมะเร็งมดลูกด้วย
---
สาเหตุการเกิด
การเกิดมะเร็งมดลูก ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่พบว่าอาจมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนในร่างกายผู้หญิง ดังนั้นผู้หญิงที่มีบุตรน้อยหรือไม่มีบุตร มีประจำเดือนเป็นเวลานาน แม้จะถึงวัยที่ควรหมดประจำเดือนแล้ว มีภาวะฮอร์โมนผันผวน เช่น ตกไข่บ้างไม่ตกไข่บ้าง ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน อ้วน มีน้ำหนักตัวมากเกินไป ก็อาจมีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งมดลูกได้มากขึ้น
---
ระยะของโรค
มะเร็งมดลูกสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1: เซลล์มะเร็งอยู่ภายในมดลูก
- ระยะที่ 2: เซลล์มะเร็งลุกลามไปที่ปากมดลูก
- ระยะที่ 3: เซลล์มะเร็งลุกลามไปนอกมดลูก และเข้าไปบริเวณเนื้อเยื่อใกล้เคียง ซึ่งอยู่ภายในอุ้งเชิงกรานหรือต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 4: เซลล์มะเร็งลุกลามไปเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณท้องหรืออวัยวะอื่น เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ ตับ หรือปอด รวมทั้งอาจแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ ต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้า หรือเซลลมะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ลามไปจนถึงกระดูก
ทั้งนี้อาการของมะเร็งมดลูกหรือมะเร็งโพรงมดลูกมีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ ประจำเดือนผิดปกติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงทุกคนที่มีประจำเดือนผิดปกติจะต้องเป็นมะเร็งมดลูก ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่ไม่ควรละเลยคือ หากมีประจำเดือนผิดปกติ ควรรีบพบสูตินรีแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป
---
การป้องกัน
เนื่องจากยัง ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งมดลูก ดังนั้นการป้องกันจึงอาจทำได้โดย- ระวังเรื่องโรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง
- สตรีวัยหมดประจำเดือน ควรได้รับการตรวจร่างกายและตรวจภายในอย่งน้อยปีละครั้ง
- ใช้ฮอร์โมน เอสโตรเจนรักษาอาการหมดประจำเดือนอย่าง ระมัดระวัง
- รีบปรึกษา แพทย์เมื่อมีอาการเลือดออกผิดปกติ
---
การรักษา
ในส่วนของการรักษามะเร็งมดลูก หากตรวจพบในระยะเริ่มแรกสามารถผ่าตัดได้ หรือจะใช้วิธีผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ แผลเล็ก สามารถฟื้นตัวและกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น โดยการผ่าตัดรักษามะเร็งมดลูกในระยะแรกนั้นง่ายกว่าการผ่าตัดมะเร็งปากมดลูก และผู้ป่วยมีโอกาสหายได้ถึง 90%
ดังนั้น หากมีประจำเดือนผิดปกติไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุใด ควรรีบมาพบสูตินรีแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยจะเป็นการดีที่สุด
ที่มา : นพ.วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวช ศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์