แชร์

มะเร็งต่อมไทรอยด์

อัพเดทล่าสุด: 5 เม.ย. 2024
279 ผู้เข้าชม

มะเร็งต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์ เป็นอวัยวะในร่างกายบริเวณคอ และเป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย (ต่อมไร้ท่อ หมายถึง ต่อมที่สร้างสารที่เรียกว่า ฮอร์โมน และปล่อยฮอร์โมนนั้น เข้าสู่กระแสเลือดและไป ทํางานในอวัยวะอื่นในร่างกาย) ต่อมไทรอยด์ จะอยู่บริเวณหน้าหลอดลมใต้ท่อกระดูกไทรอยด์ (ลูกกระเดือกในผู้ชาย) ต่อมนี้มีสองข้างซ้าย ขวา และมีแนวเชื่อมกันตรงกลางคล้ายปีกผีเสื้อ แต่ละข้างจะมีขนาดประมาณ 4-5 x 1.5-2.0 เซนติเมตร และมีนํ้าหนักประมาณ 15-25 กรัม

---

หน้าที่ของต่อมไทรอยด์ คืออะไร?

หน้าที่ของต่อมไทรอยด์ คือ สร้างไทรอยด์ฮอร์โมน เพื่อควบคุมระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย โดยที่ไทรอยด์ฮอร์โมนจะถูกสร้างจากต่อมไทรอยด์ และส่งเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และใช้ในกระบวนการเมตาบอลิสมที่อวัยวะต่างๆ

โดยสารตั้งต้นที่มีความสําคัญในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน คือ สารไอโอดีน และหากร่างกายมีภาวะที่ไทรอยด์ฮอร์โมนสูงหรือตํ่าเกินไป ก็จะทําให้ระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกายผิดปกติไปได้ นั่นคือ หากร่างกายมีไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินไป ก็จะมีกระบวนการเผาผลาญพลังงานมากตลอดเวลา ทําให้เกิดอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย กินจุ นํ้าหนักลด หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกตามฝ่ามือ ท้องเสีย เป็นต้น

ในทางตรงกันข้าม หากร่างกายมีไทรอยด์ฮอร์โมนน้อยเกินไป ก็จะเกิดอาการเฉื่อยชาไม่กระฉับกระเฉงน้ำหนักเพิ่มอาจมีอาการขาบวม ท้องผูก ขี้หนาวเป็นต้น

---

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (ไฮเปอร์ไทรอยด์) คืออะไร

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษหรือไฮเปอร์ไทรอยด์ คือ ภาวะที่มีไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดมากกว่าปกติทําให้เกิดอาการดังกล่าวข้างต้นได้ ทั้งนี้ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ อาจจะเกิดร่วมกับการมีก้อนหรือไม่มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ก็ได้

สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์มักเกิดจากโรคที่เรียกว่า Graves disease โดยที่ผู้ป่วยโรคนี้อาจจะมีความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วยได้ เช่น ตาโปน หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น

ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ สามารถวินิจฉัยได้ด้วยการเจาะตรวจระดับไทรอยด์ในเลือด โดยส่วนใหญ่แล้วสามารถรักษาได้ด้วยการกินยา ไม่จําเป็นต้องผ่าตัดรักษาแต่อย่างใด การกินยาจะต้องกินอย่างสมํ่าเสมออย่างต่อเนื่องสักพักหนึ่ง แล้วจึงสามารถลดระดับยาลงมาได้ และส่วนใหญ่สามารถหยุดยาได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่มีปัญหาการรักษาด้วยยากิน อาจต้องได้รับการรักษาด้วยสารรังสีไอโอดีน หรือที่เรียกกันว่า การกลืนแร่หรืออาจจะได้รับการผ่าตัดเพื่อรักษาก็ได้ ในกรณีที่การรักษาด้วยยากินไม่เป็นผล

---

"ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ" เป็นโรคเดียวกับ "มะเร็งไทรอยด์" หรือไม่ ?

ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ไม่ได้เป็นโรคเดียวกับมะเร็งไทรอยด์ โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่เป็นโรคของต่อมไทรอยด์มักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการผิดปกติอยู่ 2 แบบ คือ ความผิดปกติของการสร้างฮอร์โมนและมีก้อนที่คอ ผู้ป่วยที่มีไทรอยด์เป็นพิษจะมาพบแพทย์ เพราะมีการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินไป จึงมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น นํ้าหนักลด เหงื่อออกตามมือตามเท้า โดยที่อาจมีหรือไม่มีก้อนที่คอเลยก็ได้

ในขณะที่ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์จะมีอาการมีก้อนที่คอ โดยที่ก้อนดังกล่าวจะไม่ได้สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนมากกว่าปกติทําให้ไม่มีอาการดังกล่าวข้างต้น

---

เมื่อไรจึงจะสงสัยว่า เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์?

ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ จะมาพบแพทย์ด้วยอาการก้อนที่คอโดยที่ก้อนนั้นมักจะ เคลื่อนที่ขึ้นลงได้ ตามจังหวะการกลืนก้อนดังกล่าว มักจะไม่มีอาการเจ็บแต่อย่างใด ถ้าคลําไปที่ก้อน จะพบว่าก้อนมีลักษณะแข็ง

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ มักจะไม่ใช่ก้อนมะเร็ง แต่เป็นเนื้องอกอย่างอื่นที่ไม่ใช่เนื้อร้าย ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยมีก้อนที่ต่อมไทรอยด์จึงจําเป็นต้องทําการตรวจก้อนเพิ่มเติมอย่างละเอียดเสมอ เพื่อวินิจฉัยโรคให้ได้ว่าเป็นก้อนมะเร็งหรือไม่

---

เมื่อตรวจพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์แล้ว ควรจะต้องทําอย่างไร?

หากท่านตรวจพบก้อนที่คอ ที่เคลื่อนทีขึ้นลงตามการกลืนได้แล้วและสงสัยว่าเป็นก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ควรจะไปปรึกษาแพทย์ โดยทั่วไปแพทย์จะทําการเจาะเลือดตรวจเพื่อวินิจฉัยว่า เป็นก้อนที่มีการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินกว่าปกติหรือไม่

หากผลการเจาะเลือดพบว่า ระดับฮอร์โมนในเลือดปกติการตรวจในขั้นต่อไปคือการส่งตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง หรือการตรวจอัลตร้าซาวด์ของต่อมไทรอยด์ ซึ่งการตรวจดังกล่าวจะทําให้สามารถเห็น ลักษณะของก้อนที่ละเอียดได้ ลักษณะของก้อนที่เป็นของแข็งมีขอบไม่เรียบมีหินปูนในก้อนมีความสูงมากกว่าความกว้างมีเส้นเลือดมาเลี้ยงบริเวณก้อนมาก ทําให้แพทย์ต้องสงสัยว่าอาจมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้

และหากพบลักษณะดังกล่าวข้างต้น แพทย์จะแนะนําให้เจาะเอาเซลล์ในก้อนนั้นไปส่งตรวจอย่างละเอียด เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยําต่อไป การเจาะตรวจก่อนที่ต่อมไทรอยด์เป็นการตรวจที่ไม่ยุ่งยากและมักจะไม่ได้สร้างความเจ็บปวดกับผู้ป่วยมาก แพทย์จะใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนังไปในก้อนโดยตรงและทําการสุ่มเอาเซลล์ในก้อนนั้นออกไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยยืนยันว่าก้อนดังกล่าวเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือเนื้อมะเร็งต่อมไทรอยด์

---

มะเร็งต่อมไทรอยด์มีกี่แบบ แต่ละแบบ มีความรุนแรงแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร?

มะเร็งต่อมไทรอยด์มีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับว่าเซลล์เริ่มต้นมีการเปลี่ยนแปลงเกิดจากเซลล์อะไร แต่โดยทัวไปแล้วมะเร็งของต่อมไทรอยด์ที่พบได้บ่อยที่สุดคือมะเร็งของต่อมไทรอยด์ชนิดแปปปิลลารี (papillary) รองลงมาคือ มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลา (follicular)

ซึ่งมะเร็งทั้งสองชนิดนี้ ถือว่าเป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงน้อย เพราะแบ่งตัวเจริญเติบโตช้า แต่ก็มีมะเร็งต่อมไทรอยด์บางชนิดที่เติบโตแบ่งตัว เร็ว ทําให้ก้อนมักมีขนาดใหญ่และรักษายาก นั่นคือ มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดอะนาพลาสติก (anaplastic)

---

เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์แล้ว จําเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่?

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์แล้ว การรักษาที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน คือ การผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดอาจจะรวมไปถึงการผ่าตัดทั้งที่ต่อมไทรอยด์และการผ่าตัดต่อมนํ้าเหลืองที่คอ (เฉพาะผู้ป่วยบางรายการที่มีการกระจายไปต่อมนํ้าเหลืองที่คอแล้ว) สําหรับแนวทางการผ่าตัดอาจทําได้โดยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด หรือการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกเพียงข้างใดข้างหนึ่งก็ได้

ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้เลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมที่สุดที่อาจจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดที่สําคัญที่ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์มักจะกังวลเสมอ คือ ภาวะเสียงแหบจากการบาดเจ็บของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงบริเวณกล่องเสียง และภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำภายหลังการผ่าตัด

ซึ่งภาวะทั้งสองมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงระหว่างการผ่าตัด แต่หากการผ่าตัดทําโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว โอกาสในการเกิดความผิดปกติจากภาวะทั้งสองแบบถาวรมีตํ่ามาก (น้อยกว่า1%)

---

หลังการผ่าตัด จะต้องให้เคมีบําบัดหรือฉายรังสีรักษาหรือไม่?

หลังการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ แพทย์จะส่งชิ้นเนื้อไปทําการตรวจอย่างละเอียดทางห้องปฏิบัติการและประเมินดูว่ามะเร็งนั้นมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด หากพบว่ามะเร็งนั้นไม่ใช่มะเร็งที่มีความเสี่ยงตํ่า แพทย์จะแนะนําให้ผู้ป่วยรับการรักษาต่อด้วยการใช้สารรังสีไอโอดีน หรือทีเรียกว่าการกลืนนํ้าแร่ การรักษาด้วยยาเคมีบําบัดหรือการฉายรังสีรักษา ไม่ค่อยมีความจําเป็นในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์และมักจะใช้เฉพาะในผู้ป่วยบางรายเท่านั้นที่มีการกลับซํ้าของโรคหรือในระยะลุกลามที่เป็นมากแล้วเท่านั้น

---

ผลการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์เป็นอย่างไร มีโอกาสหายหรือไม่?

การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ในปัจจุบันให้ผลดีมาก และมีโอกาสในการหายขาดสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นมะเร็งไทยรอยด์ชนิด แปปปิลลารีและฟอลลิคูลา เนื่องจากการรักษาจะตอบสนองดีกับการผ่าตัดและใช้รังสีไอโอดีน โดยที่ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตมากกว่า 95% หลังจากผ่านไปแล้ว 10 ปี

ที่มา : ผศ.ดร.นพ. สืบวงศ์ จุฑาภิสิทธิ ภาควิชาศัลยศาสตร์ Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 








บทความที่เกี่ยวข้อง
มะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะสืบพันธ์ุชาย
มะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะสืบพันธ์ุชาย ระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ชาย ประกอบด้วยไต, กรวยไต, ท่อไต, กระเพาะปัสสาวะ, ต่อมลูกหมาก, อวัยวะเพศชายหรือองคชาติ, ลูกอัณฑะ, ถุงอัณฑะ
มะเร็งและเนื้องอกในระบบประสาท
มะเร็งและเนื้องอกในระบบประสาท เป็นโรคที่เกิดจากการแบ่งตัวรวดเร็วผิดปกติของเซลล์อื่นๆ ในระบบประสาท เช่น เนื้องอกจากเซลล์ประสาท เนื้องอกจากเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง เนื้องอกจาก ต่อมต่าง ๆ ในสมอง เนื้องอกจากเซลล์ปลอกประสาท เป็นต้น
มะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งที่พบมากในผู้ชาย อาการที่แสดงออกของมะเร็งต่อมลูกหมากคือปัสสาวะไม่พุ่งหรือปัสสาวะบ่อย แต่บางคนก็อาจไม่แสดงอาการใดเลยในระยะแรกเริ่มของโรค
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ