มะเร็งกล่องเสียง
มะเร็งกล่องเสียง
กล่องเสียง เป็นอวัยวะที่อยู่ด้านหน้าของลำคอ ขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร กล่องเสียงประกอบด้วยกล้ามเนื้อสองแถบที่ทำหน้าที่เป็นสายเสียง และมีกระดูกอ่อนอยู่ทางด้านหน้า โดยอาจแบ่งออกเป็นสามส่วน คือส่วนบน ส่วนกลาง และส่วนล่าง มีหน้าที่ในการออกเสียง ช่วยการหายใจ และช่วยการกลืนอาหารการเปิด-ปิดของกล่องเสียง จะสัมพันธ์กับการหายใจ การพูด และการกลืนอาหาร
- การหายใจ เมื่อกลั้นหายใจ สายเสียงจะปิดแน่น แต่เมื่อมีการหายใจ สายเสียงจะผ่อนคลายและเปิดออก
- การพูด เวลาพูด จะมีการเคลื่อนไหว ของสายเสียงเข้าหากัน ลมจากปอดจะผ่านสายเสียง และทำให้เกิดการสั่นสะเทือนของสายเสียง แรงสั่นสะเทือนนี้เองที่ทำให้เกิดเสียงขึ้น
- การกลืน กล่องเสียงจะป้องกันไม่ให้อาหารและน้ำ สำลักลงไปในหลอดลม และปอด
---
กล่องเสียง แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ
- ส่วนที่อยู่เหนือสายเสียง (supraglottis) ส่วนนี้มีทางเดินน้ำเหลืองมากมาย เมื่อเกิดมะเร็งของกล่องเสียงส่วนนี้ จึงกระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองได้สูง
- ส่วนสายเสียง (glottis) ส่วนนี้ไม่ค่อยมีทางเดินน้ำเหลือง เมื่อเกิดมะเร็งของกล่องเสียงส่วนนี้ จึงมักไม่ค่อยกระจายเข้าต่อมน้ำเหลือง
- ส่วนที่อยู่ใต้สายเสียง (subglottis) ซึ่งเป็นส่วนที่ติดต่อกับท่อลม และมีทางเดินน้ำเหลืองติดต่อกับส่วนช่องอก ดังนั้น เมื่อเกิดมะเร็งของกล่องเสียงส่วนนี้ จึงกระจายเข้าท่อลม และต่อมน้ำเหลืองในช่องอกได้สูง
---
สาเหตุของมะเร็งกล่องเสียง
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของมะเร็งกล่องเสียง แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งกล่องเสียงได้แก่
- การสูบบุหรี่ การเผาไหม้ของบุหรี่สามารถทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง นอกจากนั้น ควันของบุหรี่จะทำให้ขนกวัดของเยื่อบุกล่องเสียง หยุดการเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวช้าลง มีสารคัดหลั่ง หรือสารระคายเคืองค้างอยู่ ทำให้เยื่อบุของกล่องเสียงหนาตัวขึ้นและเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพเซลล์ ( squamous metaplasia ) กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ พบว่าปัจจัยนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด
- ดื่มสุรา แอลกอฮอล์สามารถไปกระตุ้นเยื่อบุของกล่องเสียง เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพเซลล์ กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
- การอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุกล่องเสียง เช่น จากคอ หรือ หลอดลมที่อักเสบเรื้อรัง
- มลพิษทางอากาศ การสูดดมอากาศที่เป็นพิษ เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นควัน สารเคมี จากโรงงานอุตสาหกรรม
- การติดเชื้อไวรัส เชื้อไวรัสสามารถทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงและแบ่งเซลล์ผิดปกติได้ ไวรัสยังสามารถถ่ายทอดยีนทา
- พันธุกรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งในคนรุ่นต่อไปได้ ซึ่งการติดเชื้อ human papilloma virus (HPV)-16 และ 18 มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเกิดมะเร็งกล่องเสียง
- การฉายรังสี การรักษาโดยการฉายรังสีก้อนเนื้อบริเวณคอ สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้
- ฮอร์โมนเพศ ผลการทดลองที่เกี่ยวข้องแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงจะมีเซลล์ตัวรับสัญญาณเอสโตรเจนรีเซบเตอร์ (Estrogen receptor, ER) เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
---
อาการของมะเร็งกล่องเสียง
- เสียงแหบเรื้อรัง ซึ่งหากมะเร็งเกิดที่กล่องเสียง ส่วนสายเสียง จะแสดงอาการนี้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก แต่หากเป็นที่กล่องเสียงส่วนอื่น อาการเสียงแหบที่เกิดขึ้น มักจะแสดงว่ามะเร็งอยู่ในระยะที่ลุกลามแล้ว
- มีก้อนโตที่คอ (ก้อนมะเร็งที่ลุกลามออกมา หรือต่อมน้ำเหลือง ที่มะเร็งแพร่กระจายมา) อาจมีเพียงก้อนเดียว หรือ หลายๆก้อนได้พร้อมกัน
- กลืนอาหารลำบาก กลืนติด กลืนแล้วเจ็บ หรือสำลัก
- มีเสมหะปนเลือด
- หายใจไม่ออก หายใจติดขัด หายใจลำบาก
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- เจ็บคอเรื้อรัง มีความรู้สึกเหมือนก้างติดคอ
- ปวดหู หรือไอเรื้อรัง
*สัญญาณเตือน บ่งบอกถึงความผิดปกติและควรมารับการตรวจวินิจฉัยเมื่อผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวข้างต้น ซึ่งอาจจะบ่งบอกว่าเป็นมะเร็งกล่องเสียง ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยสาเหตุของอาการดังกล่าว
---
ระยะของมะเร็งกล่องเสียง
- ระยะที่ 1 มะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะในกล่องเสียงเพียงส่วนเดียว
- ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามเข้ากล่องเสียงตั้งแต่ 2 ส่วนขึ้นไป
- ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามจนสายเสียงไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ และ/หรือ มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ซึ่งมีขนาดเล็กไม่เกิน 3 ซม. เพียง 1 ต่อม
- ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามเข้าผิวหนัง และ/หรือ ต่อมไทรอยด์ และ/หรือ หลอดอาหาร และ/หรือ มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตหลายต่อม และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองที่คอมีขนาดโตมากกว่า 6 ซม. และ/หรือ แพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ห่างจากต้นกำเนิดของมะเร็ง เช่น ปอด ตับ กระดูก และสมอง เป็นต้น
โดยทั่วไป อัตรารอดชีวิตอยู่ที่ 5 ปี ในระยะที่ 1 ประมาณ ร้อยละ 70-90, ในระยะที่ 2 ประมาณร้อยละ 60-70, ในระยะที่ 3 ประมาณร้อยละ 40-60 และในระยะที่ 4 กลุ่มที่ยังไม่มีการแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต ประมาณร้อยละ 20-40 ถ้ามีการแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดจะมีโอกาสอยู่ได้ 2 ปี ประมาณร้อยละ 30-50
---
การวินิจฉัย
- การใช้กระจกส่องลงไปตรวจที่กล่องเสียง เพื่อตรวจดูว่ามีเนื้องอกบริเวณกล่องเสียงหรือไม่
- การส่องกล้องตรวจที่กล่องเสียง และการตัดชื้นเนื้อที่สงสัย ไปตรวจทางพยาธิวิทยา ว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่
- การตรวจเลือด, ปัสสาวะ, คลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยสำหรับการดมยาสลบและส่องกล้องตรวจที่กล่องเสียง และการตัดชื้นเนื้อ
- การตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น เอ็กซเรย์ปอด, เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT), ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อให้ทราบว่า เป็นมะเร็งระยะที่เท่าไร มีการแพร่กระจายไปที่ใดบ้าง
---
การรักษามะเร็งกล่องเสียง
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกล่องเสียง แพทย์จะให้การรักษาตามแนวทางดังนี้
- ถ้าเป็นระยะแรกเริ่ม (ระยะที่ 1 และระยะที่ 2) จะรักษาโดยการฉายรังสี หรือผ่าตัด วิธีใด วิธีหนึ่งเพียงวิธีเดียวเพราะให้ผลการรักษาได้เท่าเทียมกัน แต่การฉายรังสีรักษา เป็นการให้รังสีกำลังสูง เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง สามารถใช้รักษามะเร็งกล่องเสียงระยะแรกให้หายขาดได้ และสามารถรักษากล่องเสียงไว้ได้ ทำให้ผู้ป่วยยังคงพูดได้เป็นปกติ ส่วนการผ่าตัด มักจะผ่าตัดกล่องเสียงออกบางส่วนเท่านั้น หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะสามารถพูด และกินอาหารได้ตามปกติ โดยอาจมีเสียงแหบบ้าง
- ถ้าเป็นระยะลุกลาม (ระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ซึ่งยังไม่มีการแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต) จะใช้การรักษาร่วมกัน หลายๆวิธี เช่น การผ่าตัดกล่องเสียงออกทั้งหมด รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองที่โต หรือที่อยู่ใกล้เคียง ร่วมกับการฉายรังสี บางรายอาจใช้เคมีบำบัดร่วมด้วย เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะพูดไม่ได้เป็นปกติ แต่ส่วนใหญ่จะกินอาหารได้ปกติ ผู้ป่วยจะต้องฝึกการพูดแบบไม่มีกล่องเสียง โดยการกลืนลมเร็ว ๆ แล้วเอาลมจากกระเพาะอาหารย้อนผ่านหลอดอาหารออกมาเป็นเสียง (esophageal speech) หรือใช้อุปกรณ์ช่วยพูด (electrolarynx) ซึ่งเป็นเครื่องแปลงการสั่นของกล้ามเนื้อเป็นเสียง หรืออาศัยรูที่เจาะระหว่างหลอดลมและหลอดอาหาร
ทั้งนี้ แพทย์หู คอ จมูก, แพทย์รังสีรักษา และแพทย์อายุรกรรมด้านมะเร็ง จะเป็นผู้พิจารณาแนวทางวิธีการรักษา โดยประเมินจากความรุนแรง และ ระยะของมะเร็ง, ความพร้อมในด้านต่างๆ ของสถาบันที่ให้การรักษา รวมถึงสภาพของผู้ป่วยด้วย
---
ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งกล่องเสียง
ขึ้นกับวิธีรักษา และผลข้างเคียงจะสูงขึ้น เมื่อใช้หลายๆ วิธีรักษาร่วมกัน หรือเมื่อผู้ป่วยมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคไขมันในเลือดสูง, โรคหัวใจ, โรคที่ก่อให้มีการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคที่มีภูมิต้านทานต่อตนเอง หรือผู้ป่วยสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีอายุมาก
- ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด เมื่อผ่าตัดกล่องเสียงออกทั้งหมด ผู้ป่วยจะพูดไม่ได้ และต้องหายใจทางรูเจาะคอถาวร แต่ในระยะที่ 1 ในบางตำแหน่งของโรค แพทย์อาจผ่าตัดกล่องเสียงออกเพียงบางส่วน ผู้ป่วยจึงยังคงมีเสียงพูดได้ และไม่ต้องเจาะคอ หลังผ่าตัด อาจจะทำให้การกลืนทำได้ลำบากขึ้น อาจจะต้องให้อาหารทางสายยางผ่านรูจมูก หรือใส่สายให้อาหารทางหน้าท้องชั่วคราว รวมทั้งอาจมีภาวะเลือดออก การเกิดรูรั่วของทางเดินอาหารใหม่ การตีบตันของรูเจาะคอถาวร การสำลักอาหารเข้าสู่หลอดลม และปอด
- ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี คือ อาการเจ็บคอ กลืนลำบาก ทำให้กินอาหารได้ลำบาก รับรสชาติอาหารได้ลดลง มีอาการอ่อนเพลีย และน้ำหนักลด เสียงแหบ ผิวหนังที่คอแห้งและแดง มีสีผิวเปลี่ยนไป ปาก และคอแห้ง อาจทำให้มีปัญหาฟันผุตามมาได้ หายใจลำบาก เนื่องจากกล่องเสียงบวมมากขึ้นหลังการฉายรังสีต่อมไทรอยด์อาจจะถูกทำลาย ทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ เมื่อฉายรังสีครบแล้ว อาจเกิดพังผืดกับสายเสียง เกิดเสียงแหบถาวรได้
- ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด คือ ช่วงให้ยา จะเจ็บคอมากเป็นพิเศษ เม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย และอาจมีเลือดออก หรือจ้ำเลือดตามตัวได้ง่าย เป็นผลมาจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หรือ มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ซีด ผมร่วง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร มีแผลในปาก
การให้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงนั้น จะช่วยลดอาการที่เกิดจากก้อนมะเร็งขนาดที่ใหญ่เกินกว่าการฉายรังสีเพียงอย่างเดียวจะควบคุมได้ และช่วยลดการแพร่กระจายของมะเร็งที่มีก้อนขนาดใหญ่ด้วย การใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีในช่วงเวลาเดียวกัน สามารถทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงกว่าการให้การรักษาเพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง การรักษาวิธีนี้อาจช่วยให้สามารถรักษากล่องเสียงไว้ได้
---
การเตรียมผู้ป่วยก่อนการรักษา
- การตรวจเพื่อเตรียมพร้อมของผู้ป่วยสำหรับการดมยาสลบและการผ่าตัด เช่น การตรวจเลือด, ปัสสาวะ, คลื่นไฟฟ้าหัวใจ, เอ็กซเรย์ปอด เป็นต้น
- การประเมินด้านทันตกรรม กรณีที่ต้องให้การรักษาด้วยการฉายแสง (อาจจะประเมินหลังการผ่าตัดก็ได้)
- การประเมินภาวะทางโภชนาการ
- การประเมินการพูดและการกลืน (อาจจะประเมินหลังการผ่าตัดก็ได้)
- การตรวจการได้ยิน กรณีที่มีแผนจะให้ยาเคมีบำบัดที่อาจจะมีพิษต่อประสาทการได้ยิน (อาจจะประเมินหลังการผ่าตัดก็ได้
---
ในช่วงรักษาโรคมะเร็งกล่องเสียงหรือภายหลังจากครบการรักษาแล้วควรดูแลตนเอง ดังนี้คือ
การดูแลตนเองในเรื่องทั่วไป
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐานอย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด เพราะผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำกว่าคนทั่วไป
ไม่กินยาสมุนไพร หรือยาต่างๆ รวมทั้งใช้การแพทย์สนับสนุน และการแพทย์ทางเลือก โดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อน - ดูแล รักษาโรคร่วมต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ เพราะโรคร่วมเหล่านี้จะมีผลต่อสุขภาพโดยรวม และเป็นปัจจัยให้เกิดผลข้างเคียงระยะยาวจากการรักษาสูงขึ้น
- พักผ่อนให้เต็มที่ ถ้าอ่อนเพลีย ควรลาหยุดงาน แต่ถ้าไม่อ่อนเพลีย ก็สามารถทำงานได้ แต่ควรเป็นงานเบาๆ ไม่ใช้แรงงาน และสมองมาก และสามารถพักในช่วงกลางวันได้ ควรปรึกษาหัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงานเพื่อการปรับตัว
- ทำงานบ้านได้ตามกำลัง
- งด/เลิก บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดชีวิต เพราะมีสารพิษที่เป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งจากการศึกษาสนับสนุนว่า เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำ และ/หรือของการเกิดโรคมะเร็งชนิดใหม่ (ชนิดที่สอง) ได้ และจำกัดเครื่องดื่มกาเฟอีน
- มีเพศสัมพันธ์ได้ตามกำลัง ผู้ป่วยหญิงวัยเจริญพันธุ์ ควรยังต้องคุมกำเนิดอยู่ เพราะทารกที่เกิดช่วง 6 เดือนหลังครบการรักษา อาจมีความผิดปกติในการเจริญเติบโตได้ จากสุขภาพมารดาที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทั้งนี้ในเรื่อง วิธี และการคุมกำเนิด และการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาโรคมะเร็งเสมอ เพราะอาจมีความสัมพันธ์กับการลุกลามหรือการย้อนกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งได้
- รู้จักดูแลตนเองในภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา)
- รักษาสุขภาพจิต ให้กำลังใจตนเอง และคนรอบข้าง มองโลกในด้านบวกเสมอ
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ
* พบแพทย์ก่อนนัด เมื่ออาการต่างๆเลวลง หรือเกิดความผิดปกติผิดไปจากเดิม เช่น การคลำได้ก้อนเนื้อผิดปกติ และ/หรือ มีแผลเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ หรือมีเลือดออกจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ หรือเมื่อกังวลในอาการ หรือในโรค
** พบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง หรือฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เมื่อ มีไข้สูง, ท้องเสีย โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับมีไข้, คลื่นไส้ อาเจียนมาก จนกิน ดื่ม ไม่ได้ หรือได้น้อย, ไอมากจนส่งผลกระทบต่อการนอน, หายใจเหนื่อย หอบ, มีเลือดกำเดา อาเจียน ไอ ถ่ายอุจจาระ และ/หรือปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีเลือดออกตามเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ, ท่อ หรือสายต่างๆที่มีอยู่หลุด เช่น ท่อให้อาหาร หรือท่อหายใจ, ปวดศีรษะรุนแรง, ชัก, แขน ขาอ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้, อุจจาระ ปัสสาวะไม่ออก ไม่มีปัสสาวะภายใน 6 ชั่วโมง, สับสน ซึม และโคม่า
*** ภายหลังครบการรักษาโรคมะเร็งแล้ว ใน ช่วงระยะแรกประมาณ 4-8 สัปดาห์ ยังถือว่าอยู่ในระยะพักฟื้น ควรค่อยๆปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งในกิจวัตรประจำวัน การทำงาน การออกแรงทั้งหลาย รวมทั้งการออกกำลังกาย ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ โดยเฉพาะการทำกายภาพฟื้นฟูเนื้อ เยื่อ/อวัยวะต่างๆ และควรกลับไปทำงานตามปกติ เมื่อพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ
ที่มา : รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยาFaculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล