มะเร็งปอด
มะเร็งปอด
มะเร็งปอดเป็นโรคซึ่งมีการเจริญของเซลล์ในเนื้อเยื่อปอด อย่างควบคุมไม่ได้ การเจริญนี้นำไปสู่การแพร่กระจาย มีการรุกรานเข้าไปในเนื้อเยื่อข้างเคียงและแทรกซึมเข้าไปในอวัยวะนอกปอด ปัจจุบัน ประเทศไทย พบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้น 140,000 คน หรือ ประมาณ 400 คนต่อวัน
มะเร็งปอดส่วนใหญ่เป็นมะเร็งชนิดเยื่อบุ คือเจริญมาจากเซลล์เนื้อเยื่อบุผิว มะเร็งปอดมักปรากฏอาการเมื่อเนื้อร้ายลุกลามเป็นวงกว้างในระยะที่ 3 4 อาการที่พบบ่อยที่สุดของโรคมะเร็งปอดคืออาการเหนื่อย ไอ รวมถึงไอเป็นเลือด น้ำหนักลดและหายใจลำบาก มะเร็งปอดมีอยู่ 2 ชนิดใหญ่คือ มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer) พบประมาณ 15% และมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-small cell lung cancer; NSCLC) พบได้ 85% ของมะเร็งปอดทั้งหมด โดยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กมีโอกาสตรวจพบโรคในระยะต้นได้มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก
ประเทศไทยสูญเสียคนมีชื่อเสียงจากโรคมะเร็งปอดกันมากขึ้น มะเร็งปอดเป็นภัยเงียบที่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต แต่ถ้าหากตรวจพบได้เร็วเท่าไหร่โอกาสในการรักษาก็จะได้ผลดีมากยิ่งขึ้น
มะเร็งปอดมี่กี่ชนิด
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer)
มะเร็งชนิดนี้พบประมาณร้อยละ 10-25 ของมะเร็งทั้งหมด ส่วนใหญ่พบบริเวณใกล้ขั้วปอดมากกว่าบริเวณชายปอด เป็นชนิดมะเร็งที่แพร่กระจายเร็วและอาจสร้างสารเคมีบางอย่าง ทำให้เกิดการผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ (ฮอร์โมน) ในร่างกายได้ มะเร็งชนิดนี้มักตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาได้ดี - มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-small cell lung cancer)
มะเร็งชนิดนี้พบประมาณร้อยละ 75-90 ขอมะเร็งปอดทั้งหมด มักมีการดำเนินโรคที่ช้ากว่า มีโอกาสตรวจพบโรคในระยะต้นได้มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเล็ก ถ้าพบในระยะแรก การรักษาหลักคือการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองออก บางรายอาจให้การรักษาร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดหรือใช้รังสีรักษาอาการแสดงเบื้องต้นของคนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอด
---
ปัจจัยเสี่ยงและการปฏิบัติตัวเพื่อให้ห่างไกลจากมะเร็งปอด
- หยุดสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ที่สูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่เป็นสาเหตุของมะเร็งปอดถึงร้อยละ 80 90 การสูบบุหรี่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์หลอดลม ทำให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งได้
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีมลภาวะมาก เช่น การทำงานในที่ที่มีฝุ่นควันมาก หรือเหมืองแร่โดยไม่ใช้เครื่องมือป้องกันตนเอง การสัมผัสสารแอสเบสตอสหรือแร่ใยหิน ซึ่งใช้ในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ ฉนวนกันความร้อน การก่อสร้าง โครงสร้างอาคาร ผ้าเบรค คลัช และอุตสาหกรรมสิ่งทอ และควรหลีกเลี่ยงฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนหรือ PM2.5 โดยสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกไปภายนอกอาคาร ซึ่ง PM2.5 ก็อาจส่งผลเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งได้เช่นกัน แม้จะยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนอย่างชัดเจน
- อยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์
- หมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำสม่ำเสมอ
- ออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ
- การได้รับการฉายรังสีบริเวณปอด และรังสีเรดอน ซึ่งเป็นก๊าซกัมมันตรังสี ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เกิดจากการสลายตัวของแร่ยูเรเนียมในใยหินกระจายอยู่ในอากาศและน้ำใต้ดินในที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท ซึ่งหากได้รับในปริมาณมากก็อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้
- ผู้ที่เคยมีรอยแผลเป็นของโรคที่ปอด เช่น เคยเป็นวัณโรคปอด หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง จะมีโอกาสเกิดมะเร็งปอดสูงกว่าบุคคลทั่วไป
- ปัจจัยอื่นๆ เช่น อายุที่มากขึ้น การใช้สารเสพติดบางประเภท เช่น กัญชาและโคเคน ภาวะขาดวิตามินเอ อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปอดด้วย ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างกรรมพันธุ์กับการเกิดมะเร็งปอดยังไม่มีความชัดเจนนัก
สัญญาณเตือนของมะเร็งปอด
อาการของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่
- อาการไอเรื้อรัง อาจมีหรือไม่มีเสมหะก็ได้
- อาการไอเป็นเลือด
- หอบเหนื่อย หายใจลำบากเนื่องจากก้อนมะเร็งโตขึ้น ทำให้เนื้อที่ปอดสำหรับหายใจเหลือน้อยลง หรือก้อนมะเร็งนั้นกดเบียดหลอดลม
- เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ
- ปอดอักเสบ มีไข้
อาการของระบบอื่นๆ ได้แก่
- เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- บวมที่หน้า แขน คอ และทรวงอกส่วนบนเนื่องจากมีเลือดดำคั่ง
- เสียงแหบเพราะมะเร็งลุกลามไปยังเส้นประสาทบริเวณกล่องเสียง
- ปวดกระดูก
- กลืนลำบากเนื่องจากก้อนมะเร็งกดเบียดหลอดอาหาร
- อัมพาตเนื่องจากมะเร็งแพร่กระจายไปยังสมองหรือไขสันหลัง
- มีตุ่มหรือก้อนขึ้นตามผิวหนัง
ซึ่งอาการเหล่านี้ก็ไม่จำเพาะต่อโรคมะเร็งปอดเช่นกัน ผู้ที่มีอาการดังกล่าวข้างต้นควรได้รับการตรวจจากแพทย์
---
การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด
โรคมะเร็งปอดอาจตรวจพบได้จากการถ่ายภาพรังสีทรวงอกและการทำซีทีสแกน การยืนยันการวินิจฉัยทำโดยการตัดชิ้นเนื้อปอดออกมาตรวจ การตัดชิ้นเนื้อปอดส่วนใหญ่ทำโดยส่องกล้องหลอดลมเพื่อเก็บชิ้นเนื้อหรือการเจาะชิ้นเนื้อโดยใช้ผลตรวจซีทีช่วยนำทาง
- การตัดชิ้นเนื้อเพื่อวิเคราะห์ (biopsy)
- การใช้เข็มขนาดเล็กตัดชิ้นเนื้อ (fine-needle aspiration)
- การส่องกล้องตรวจภายในหลอดลม (bronchoscopy)
- การใช้เข็มเจาะช่องเยื่อหุ้มปอดแทงผ่านผนังทรวงอก (thoracentesis)
- การตรวจช่องกลางทรวงอกโดยการส่องกล้อง (mediastinoscopy)
- การตรวจช่องทรวงอกโดยการส่องกล้อง (thorocoscopy)
- การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI): เป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์หาตำแหน่งและขนาดของก้อนเนื้อที่ผิดปกติในบริเวณปอดได้
- การตรวจด้วยเครื่อง PET scan (positron emission tomography scan): เป็นการฉีดโมเลกุลของสารกัมมันตภาพรังสีที่รวมกับน้ำตาลเข้าทางเส้นเลือด เซลล์มะเร็งปอดจะดูดซึมเอาน้ำตาลชนิดนี้ไว้อย่างรวดเร็วและมากกว่าเซลล์ปกติ ทำให้เกิดความแตกต่างของการเรืองแสงเฉพาะเซลล์มะเร็ง
---
ปัจจัยที่บอกถึงการพยากรณ์โรคในผู้ป่วยมะเร็งปอด
- ชนิดของมะเร็งที่เป็นมะเร็งชนิดเซลล์ไม่เล็ก มีการพยาการณ์โรคโดยรวมดีกว่ามะเร็งชนิดเซลล์เล็กโดยผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะแรกจะมีโอกาสหายขาดมากกว่า และมีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยระยะหลังหรือระยะแพร่กระจาย
- ความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายผู้ป่วย ผู้ป่วยที่ไม่มีโรคประจำตัวรุนแรง ผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะน้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ มักมีผลการรักษาที่ดีกว่าผู้ที่ร่างกายไม่สมบูรณ์
- การรักษาที่ผู้ป่วยได้รับการเลือกการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มแรก มีความสำคัญในการพยากรณ์ผลการรักษาของโรคด้วย โดยทั่วไปแพทย์สามารถทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นได้ แม้ว่าในบางครั้งอาจจะไม่สามารถช่วยให้หายขาดจากโรคได้ก็ตาม
---
การรักษามะเร็งปอด
- ผ่าตัด (Surgery) ใช้สำหรับการรักษามะเร็งในระยะแรกที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย ขนาดก้อนที่ไม่ใหญ่เกินไป จะมีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองใกล้ๆ และไม่มีการยึดติดกับอวัยวะสำคัญต่างๆ เนื่องจากเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคได้
- ฉายรังสี (Radiology) เป็นวิธีการรักษาเฉพาะที่เช่นเดียวกับการผ่าตัด เหมาะสำหรับ
a. ผู้ป่วยระยะแรกที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้
b. ผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะลุกลามเฉพาะที่ โดยใช้ร่วยกับยาเคมีบำบัด ซึ่งเป็นการรักษาเพื่อหวังผลหายขาด
c. ใช้เป็นการรักษาเสริมหลังการผ่าตัดในผู้ป่วยระยะที่ 3 ที่มีข้อบ่งชี้เพื่อเพิ่มผลการควบคุมโรคที่ดี
d. ใช้เป็นการรักษาประคับประคอง บรรเทาอาการปวดกระดูก บรรเทาอาการในกรณีที่มะเร็งมีการกระจายไปยังสมอง
e. ใช้เป็นการรักษาป้องกัน เช่น การฉายรังสีที่ศีรษะ เพื่อป้องกันโรคกระจายมาที่สมอง - ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการให้ยาที่สามารถทำลายเซลล์มะเร็ง โดยการฉีดหรือผสมสารละลายหยดเข้าไปทางหลอดเลือด ซึ่งตัวยาจะผ่านเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือดและเข้าสู่เซลล์มะเร็งทางเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง
ยามุ่งเป้า (Targeted therapy) เป็นวิธีการรักษามะเร็งโดยมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งโปรตีนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมกลไกการเกิดมะเร็ง โดยวิธีการให้ยารับประทาน มีผลข้างเคียงน้อยและได้ผลดีในผู้ป่วยที่ได้รับการตอบสนองต่อการรักษา มักใช้เป็นการรักษาสำรอง เมื่อล้มเหลวจากการให้ยาเคมีบำบัด - ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) การผสมยากับสารละลายแล้วหยดเข้าไปทางหลอดเลือด หวังผลเพื่อกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถกลับมาทำงานได้เป็นปกติ มีผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด มักใช้เป็นการรักษาสำรอง เมื่อล้มเหลวจากการให้ยาเคมีบำบัด
สิ่งสำคัญที่ต้องทราบคือ การเลือกยาในการรักษามะเร็งนั้น อาจมีความแตกต่างกันในคนไข้แต่ละคน เพราะถึงแม้ว่าคนไข้จะเป็นมะเร็งชนิดเดียวกันแต่ลักษณะการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งอาจมีความแตกต่างกัน
ดังนั้นการตรวจหาการกลายพันธุ์ในเซลล์มะเร็งของคนไข้ด้วย การตรวจยีนมะเร็งอย่างครอบคลุม (Comprehensive Genomic Profiling) จะช่วยให้แพทย์และคนไข้สามารถร่วมกันวางแผนการรักษาและเลือกยาที่เหมาะสมที่สุดกับคนไข้ได้อย่างเหมาะสม
ที่มา :
· ทำความรู้จักกับมะเร็งปอด (Lung Cancer), โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์
· Heim D et al. Int J Cancer 2014; 135: 23622369
· Baumgart M et al. Am J Hematol Oncol 2015: 11: 1013
· Schwaederle M, Kurzrock R. Oncoscience 2015; 2: 779780