มะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย และมีแนวโน้มคนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งสูงขึ้นทุกปี โดยหญิงไทยมีอัตราการพบมะเร็งประมาณ 40 คน ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ 100,000 คน
มะเร็งเต้านมเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม เซลล์เหล่านี้มีการแบ่งตัวผิดปกติไม่สามารถควบคุมได้อาจมีการแพร่กระจายไปตามทางเดินน้ำเหลือง ไปสู่ต่อมน้ำเหลือง หรือแพร่กระจายไปสู่อวัยวะที่อยู่ห่างไกลเช่น กระดูก ปอด ตับ เป็นต้น การตรวจพบมะเร็งในระยะแรกจะช่วยให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูง
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูก
- เพศ โดยเพศหญิงจะมีฮอร์โมนเพศ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งสามารถกระตุ้นการเจริญของเซลล์มะเร็งเต้านมได้ จึงมีโอกาสป่วยเป็นโรคได้มากกว่าเพศชาย แต่ผู้ชายก็สามารถเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน โดยมีอุบัติการณ์ของโรคนี้น้อยกว่าผู้หญิงเกือบ 100 เท่า
- อายุ ในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
- มีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านม โดยผู้ป่วยที่เกิดมะเร็งเต้านมขึ้นข้างหนึ่งมีความเสี่ยง 3 - 4 เท่า ในการที่จะเกิดก้อนมะเร็งขึ้นที่เต้านมอีกข้าง
- มีประวัติโรคทางเต้านมในอดีต โรคบางโรคที่มีการเจริญของเซลล์ผิดปกติในเต้านม สามารถที่จะเพิ่มความเสี่ยงหรือพัฒนากลายเป็นมะเร็งเต้านมได้ในอนาคต เช่น Atypical ductal hyperplasia (ADH) เป็นต้น
- มีประวัติการเป็นมะเร็งรังไข่ เนื่องจากการเป็นมะเร็งรังไข่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสฮอร์โมน จึงเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น
- การกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม แต่ยีนดังกล่าวก็พบได้เพียงร้อยละ 5 - 10 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด ดังนั้น หากตรวจยีนดังกล่าวแล้วปกติก็ยังมีสิทธิ์เป็นมะเร็งเต้านมอยู่
- การสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจนพบว่าการสัมผัสกับเอสโตรเจนเป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม
- ประวัติประจำเดือน การมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี หรือหมดประจำเดือนช้ากว่าอายุ 55 ปีร่างกายของผู้หญิงจะมีช่วงเวลาสัมผัสกับฮอร์โมนเพศ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนมากขึ้นทำให้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น
- การตั้งครรภ์และการให้นมบุตร ผู้ป่วยที่ไม่เคยตั้งครรภ์ หรือมีบุตรคนแรกตอนอายุมากกว่า 30 ปี จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะเดียวกันการตั้งครรภ์หลายครั้งและมีบุตรตั้งแต่อายุน้อยสามารถลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้ และการให้นมบุตรเป็นเวลามากกว่า 1 ปีขึ้นไป ก็อาจจะช่วยลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งได้เช่นกัน
- ยาคุมกำเนิดและการใช้ฮอร์โมน ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้ แต่ความเสี่ยงที่ว่านี้จะหมดไปหากหยุดใช้ยาเกิน 10 ปี
- ลักษณะของการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ความอ้วน ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การรับประทานอาการที่มีไขมันสูง การสูบบุหรี่ การได้รับรังสีในปริมาณสูง ภาวะเครียด
---
อาการมะเร็งเต้านม
บางครั้งผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม อาจไม่มีอาการของมะเร็งเต้านม และมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บหรือปวด (มีเพียงร้อยละ10 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดเต้านม) ดังนั้นจึงควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้
- มีก้อนหนาๆ ในเต้านมหรือใต้แขน
- บริเวณหัวนมบุ๋ม หรือเต้านมมีรูปร่างผิดไปจากเดิม
- มีน้ำเหลืองหรือน้ำเลือดไหลออกจากหัวนมหรือมีแผลบริเวณเต้านม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผลบริเวณหัวนมและรอบหัวนม
- เต้านมมีผื่น แดง ร้อน ผื่นคล้ายผิวส้ม
- อาการปวดบริเวณเต้านม
- ไม่มีอาการผิดปกติ แต่พบรอยโรคจากการตรวจแมมโมแกรมหรืออัลตร้าซาวด์เต้านม
---
การวินิจฉัยมะเร็งเต้านม
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมสามารถทำได้ ดังนี้
- การซักประวัติและตรวจเต้านมโดยแพทย์เฉพาะทาง
- การตรวจทางรังสีวิทยา
- การตรวจด้วยวิธีแมมโมแกรม (Mammogram) แนะนำให้ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี
- การตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์ จะช่วยตรวจหาและวัดขนาดสิ่งผิดปกติ เช่น ก้อนเนื้องอก ก้อนซีสต์หรือถุงน้ำ ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากผู้หญิงในทวีปเอเชียส่วนใหญ่จะมีขนาดเต้านมเล็กกว่าผู้หญิงทางฝั่งยุโรปหรืออเมริกัน และมีเนื้อเต้านมที่แน่นมากกว่าโดยเฉพาะในกลุ่มสตรีที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี การทำแมมโมแกรม หรือการตรวจอัลตร้าซาวด์เต้านมอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวไม่สามารถมองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน
- การเจาะชิ้นเนื้อส่งตรวจกับพยาธิแพทย์ จะทำเมื่อมีการตรวจพบก้อนผิดปกติ (ทั้งจากการตรวจเต้านมด้วยตนเองหรือการเอกซเรย์) หรือพบการมีแคลเซียมเป็นจุดที่ผิดปกติจากการตรวจเอกซเรย์ ซึ่งแพทย์จะต้องทำการตรวจว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ ซึ่งวิธีที่วินิจฉัยได้แม่นยำคือวิธีการนำชิ้นเนื้อออกมาตรวจถ้าเป็นมะเร็งเต้านมจะได้ทำการผ่าตัดและรักษาแบบมะเร็งเต้านมต่อไป
---
การตรวจเต้านมด้วยตนเอง
80% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม จะเริ่มด้วยอาการพบก้อนที่บริเวณเต้านม และส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะตรวจพบหรือคลำได้ด้วยตนเอง การตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอจะทำให้รู้ว่าลักษณะของเต้านมปกติเป็นอย่างไร และสามารถสังเกตได้หากเริ่มมีความผิดปกติขึ้น จะทำให้แพทย์สามารถรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลที่ดีเยี่ยม
"มะเร็งเต้านมรักษาได้"
การรักษามะเร็งเต้านม จะอาศัยทีมแพทย์ในสาขาต่างๆ เช่น ศัลยแพทย์ รังสีแพทย์ และอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง มาร่วมกันวางแผนการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุด สำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกวิธีการรักษาของแพทย์ เช่น
- ขนาด ตำแหน่ง และลักษณะของเซลล์มะเร็ง
- ระยะโรคและการกระจายของมะเร็ง
- อายุและสุขภาพของผู้ป่วย
- กรรมพันธุ์และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
- ตัวรับฮอร์โมนของมะเร็ง
- ภาวะก่อนหรือหลังหมดประจำเดือน
- ปัจจัยที่บ่งบอกความรุนแรงของเนื้องอก เช่น ยีน HER2
---
วิธีการรักษามะเร็งเต้านม
วิธีการรักษามะเร็งเต้านมที่ได้ผลดีและเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบัน มีดังนี้
- การรักษาโดยการผ่าตัด
- การรักษาโดยการฉายแสง (รังสีรักษา)
- การรักษาโดยยาเคมีบำบัด
- การรักษาโดยใช้ฮอร์โมน
- การรักษาโดยยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy)
มะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก จะให้การรักษาโดยการผ่าตัดเป็นอันดับแรกและส่วนมากต้องการการรักษาวิธีอื่นๆ ร่วมด้วยเพื่อให้ผลการรักษาที่ดีขึ้น
ที่มา : รพ.ศิครินทร์