การออกกำลังกายมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีปัญหาในการเริ่มต้นการออกกำลังกาย เช่น กลัวว่าออกกำลังกายจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย รู้สึกอ่อนเพลียง่ายจึงไม่อยากออกกำลังกาย หรืออยากออกกำลังกายแต่ไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นอย่างไร หากผู้ป่วยและญาติมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง จะส่งผลผู้ป่วยได้รับประโยชน์เต็มที่จากการออกกำลังกายได้
หากมีภาวะดังต่อไปนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการออกกำลังกาย
หลังการรักษามะเร็ง ร่างกายต้องใช้เวลาพักฟื้น สักช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาออกกำลังกายจนแข็งแรงเท่าเดิมได้ เริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ขอให้ทำอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายอย่างหักโหมทันที จะทำให้ร่างกายเครียดและอ่อนล้าโดยไม่จำเป็น ออกกำลังกาย เท่าที่รู้สึกว่าตัวเอง ไหว ระหว่างวัน พยายาม หลีกเลี่ยงการนั่งหรือนอนเฉยๆ เป็นเวลานานๆ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ แม้ว่าผู้ป่วยจะออกกกำลังกายทุกวันก็ตาม ให้พยายาม ออกกำลังกายอะไรก็ได้แม้เล็กน้อย ยังส่งผลดีต่อสุขภาพ ดีกว่าไม่ออกกำลังกายเลย
ผู้ป่วยที่ยังอยู่ในช่วงรับการรักษาโรคมะเร็ง โดยเฉพาะหลังผ่าตัดหรือระหว่างการได้รับยาเคมีบำบัด มักมีภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ควรรักษาความสะอาดให้ดี หากเกิดการติดเชื้ออาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในที่ชุมชน ที่พลุกพล่าน ควรเลือกสถานที่ออกกำลังกายที่สะอาด และควรล้างมือบ่อยๆ หากมีไข้หรือหนาวสั่น ควรงดออกกำลังกายและปรึกษาแพทย์
หากเส้นประสาทส่วนปลายผิดปกติ อาจมีอาการชาปลายมือปลายเท้า อาจเกิดแผลทั้งที่ไม่รู้สึกเจ็บ ให้หมั่นตรวจดูมือเท้าบ่อยๆ หากระบบประสาทการทรงตัวผิดปกติ อาจสูญเสียการทรงตัวและหกล้มได้ง่าย ควรเพิ่มความระมัดระวังระหว่างการออกกำลังกาย และแนะนำให้ฝึกกายภาพเรื่องการทรงตัว
ภาวะกระดูกพรุนในผู้ป่วยมะเร็ง เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากมะเร็งลามไปกระดูก อาจเกิดจากการฉายรังสีที่กระดูก การได้รับยาสเตียรอยด์ระหว่างการรักษามะเร็ง กระดูกบางจากการที่ผู้ป่วยไม่ค่อยได้ออกกำลังกายหรือได้รับการรักษามะเร็งด้วยยาต้านฮอร์โมนเพศ เช่น การได้ยาต้านฮอร์โมนในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น